ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

Melayu Living

บินละห์

“ว่าว” โบย “บิน” ความสัมพันธ์จากพื้นดินตามกระแสลมสู่ท้องฟ้า สะท้อนกลับสู่สายน้ำที่เชื่อมการเดินทางจากฝั่งหนึ่งสู่อีกฝั่งของวัฒนธรรม อ่าวปัตตานีและทะเลสาบสงขลามีลักษณะโอบล้อมคล้ายคลึงกันทางภูมิศาสตร์ เหมาะแก่การเป็นเมืองท่าทางการค้า มีความเชื่อมโยงในเรื่องของการเดินทางทางทะเล เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาในหลากหลายพื้นที่ ตั้งแต่ในยุคสุลต่านสุไลมาน หรือพระเจ้าสงขลาที่ 1 ในชุมชนแหลมสน ตำบลหัวเขาแดง สถานที่ตั้งของผลงาน เป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ก่อตั้งเมืองสงขลา มีการพัฒนาความเป็นเมืองมาหลากหลายช่วงยุคสมัย จึงมีการกระจายตัวกันทั้งชุมชนชาวพุทธ มุสลิม จีน และมีโบราณสถานที่สำคัญต่อเมืองสงขลามากมาย ภายในชุมชนแหลมสนมีชมรมการทำ “ว่าวควาย” ภูมิปัญญาพื้นถิ่นของภูมิภาค อันเป็นจุดเชื่อมโยงของพื้นฐานวัฒนธรรมเดียวกันกับ “ว่าวทองแห่งมลายู” หรือ “ว่าวเบอร์อามัส” “ว่าวเบอร์อามัส” หรือว่าวทองแห่งมลายูคงเอกลักษณ์จากการขึ้นโครงที่ต้องอาศัยช่างฝีมือมากทักษะ โดยโครงสร้างหลักของ “ว่าวเบอร์อามัส” และ “ว่าวควาย” นั้นมีรูปลักษณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายคลึงและเชื่อมโยงถึงกัน เอกลักษณ์ของว่าวในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ลักษณะโครงซี่ไม้ไผ่ และศิลปะบนกระดาษที่แฝงปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบมุสลิม แต่การละเล่นที่ตกทอดทางภูมิปัญญานี้ยังมีนัยยะที่สัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศ การทำนา และทำการเกษตรอย่างมีนัยยะด้วยการดูทิศทางกระแสลม ที่เชื่อมโยงทั้งว่าวและสองวิถีชีวิตเข้าด้วยกัน คำว่า “บินละห์” ในภาษาอาหรับหมายความว่า “คุณธรรม” นอกจากนี้ยังหมายความถึง "การเอ่ยนามของพระผู้เป็นเจ้า" และมักถูกใช้ในการเริ่มต้นทำกิจกรรมต่าง ๆ จาก “ว่าวเบอร์อามัส” แห่งมลายูสู่ “ว่าวควาย” ในชุมชนแหลมสน การเดินทางจาก ท้องทะเล-พื้นดิน-ท้องฟ้า พื้นฐานเริ่มต้นที่คล้ายกัน แม้แตกต่างในรายละเอียด แต่มาบรรจบกัน เกิดเป็นการเริ่มต้นใหม่ นามของพระผู้เป็นเจ้าจึงเหมาะที่จะใช้เพื่อสืบสานเรื่องราวดี ๆ ให้ผลิบานพร้อมกันต่อไป